ใบความรู้ที่ 2 ตัวอย่างวิธีการทำกิจกรรมเพาะถั่วงอก
ใบความรู้ที่ 2 ตัวอย่างวิธีการทำกิจกรรมเพาะถั่วงอก
หลักการพื้นฐานของการเพาะถั่วงอกมีดังนี้
1. เมล็ดถั่วที่นำมาเพาะนิยมใช้ถั่วเขียว จะเลือกใช้แบบผิวมันที่เปลือกสีเขียว หรือแบบผิวดำก็ได้แต่ควรเลือกเมล็ดใหม่
สะอาด เพราะจะงอกดีกว่า สิ่งสำคัญคือต้องนำเมล็ดไปแช่ในน้ำอุ่นก่อนนานประมาณ 6-8 ชั่วโมง เพื่อแก้ไขสภาพพักตัวของเมล็ดช่วยกระตุ้นให้เมล็ดถั่วงอกได้ดีขึ้น
2. ภาชนะ ควรเป็นภาชนะที่ทึบแสง หรือมีฝาปิด หรือห่อหุ้มด้วยวัสดุทึบแสง
และควรมีรูระบายน้ำทั้งด้านล่าง และด้านข้างที่สำคัญต้องเป็นภาชนะที่สะอาด
3. น้ำ น้ำที่ใช้รดจะต้องเป็นน้ำสะอาด และต้องได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ
เพื่อให้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นการช่วยระบายความร้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการงอกด้วย
หากรดน้ำมากไปจะทำให้เมล็ดถั่วเน่า แต่หากรดน้ำน้อยไปเมล็ดถั่วจะแห้งและตายได้
4. วัสดุเพาะควรจะเลือกใช้วัสดุเพาะที่ที่เก็บความชื้นได้ดี หรือหาง่าย เช่น ฟองน้ำกระสอบป่านตะแกรงที่ไม่เป็นสนิม
5. ความชื้น ควรเพาะในที่แห้ง ระบายอากาศได้ดี ถ้าในฤดูฝน ความชื้นในอากาศสูงทำให้ถั่วงอกชื้นและขึ้นราได้ง่าย
6. แสง ทำให้ถั่วงอกมีใบสีเขียว ลำต้นผอมยาว ดังนั้นภาชนะที่ใช้เพาะถั่วงอกจึงควรทึบแสงหรือตั้งภาชนะไว้ในที่มืด
หรือห่อหุ้มด้วยวัสดุทึบแสง
ตัวอย่างวิธีการทำกิจกรรมเพาะถั่วงอก เช่น การเพาะถั่วงอกแบบมีรากกับถั่วงอกแบบตัดราก
ส่วนภาชนะที่ใช้เพาะสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมและความต้องการ

วัสดุและอุปกรณ์
1. ขวดกาแฟชนิดใสหรือชนิดสีชา
2. ผ้าไนลอนหรือผ้าขาวบาง กว้าง 4 นิ้ว ยาว 5 นิ้ว
3. ถั่วเขียว
4. หนังยาง
5. ถุงกระดาษหรือถุงดำทึบแสง
วิธีการทำกิจกรรม
1. ล้างถั่วเขียวด้วยน้ำสะอาด แช่ในน้ำอุ่น อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
2. นำถั่วเขียวมาล้างในน้ำสะอาด จากนั้นใส่ขวดกาแฟ ใช้ผ้าไนลอน หรือผ้าขาวบางปิดปากขวด
ใช้หนังยางรัดให้แน่น
3. วางขวดในแนวนอน เขย่าให้เมล็ดถั่วเขียวกระจายทั่วพื้นขวด วางไว้ในที่มืด หรือใส่ไว้ในถุงกระดาษหรือถุงดำทึบแสง
4. เปิดน้ำใส่ขวด และเทน้ำทิ้งทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง แล้วเก็บไว้ในที่มืดเหมือนข้อ
3.
5. ประมาณ 3 วัน ก็สามารถนำถั่วงอกมารับประทานได้
การเพาะถั่วงอกแบบมีรากในขวดน้ำดื่ม
วัสดุและอุปกรณ์
1. ขวดน้ำดื่มพลาสติก เจาะรูด้านที่วางติดพื้น ประมาณ 10-12 รู
2. หัวแร้ง สำหรับเจาะรู
3. กรรไกร
4. ตะแกรงไนล่อนหรือตะแกรงเกล็ดปลา สำหรับหุ้มรอบขวดเพื่อใช้พรางแสง
5. ฝาขวดน้ำเจาะรู (โดยใช้หัวแร้ง) ด้านบนของฝาขวด 3 หรือ 4 รู
6. หนังยาง สำหรับรัดตะแกรงไนล่อนรอบขวดพลาสติก
7. ถุงดำ ใช้ขนาดให้เหมาะสมกับขวดที่เพาะถั่วงอก
8. มีดคัตเตอร์
วิธีการทำกิจกรรม
1. นำถั่วเขียวมาใส่ในขวด ในปริมาณเท่ากับ 1 ข้อของขวด จากนั้นใส่น้ำในขวดเพื่อล้างถั่วเขียวด้วยประมาณ
2 ครั้ง เทน้ำทิ้ง
2. ใส่น้ำร้อน (100 องศาเซลเซียส) 1 ส่วน นำมารวมกับน้ำธรรมดา 3 ส่วน จะได้น้ำที่อุณหภูมิประมาณ
40-45 องศาเซลเซียส ให้ใส่น้ำที่ผสมกันลงไปในขวด ให้น้ำท่วมถั่วเขียว
ให้แช่ถั่วเขียวในลักษณะขวดตั้งตรง เป็นระยะเวลา 6-8 ชม.
3. นำถั่วเขียวมาล้างด้วยน้ำธรรมดา 1-2 ครั้ง จากนั้นวางขวดในแนวนอน
4. นำตะแกรงไนล่อนที่ได้ตัดไว้แล้วมาหุ้มรอบขวดเพื่อป้องกันแสง โดยให้ปลายตะแกรงไนล่อนด้านหนึ่งเสียบเข้าไปด้านข้างของขวดที่เจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยม
5. รดน้ำถั่วเขียว ประมาณ 3 ครั้งต่อวัน คือ เช้า เที่ยงวัน
เย็น
6. การรดน้ำแต่ละครั้งเมื่อเสร็จแล้ว ให้เอาขวดที่เพาะ วางเป็นแนวนอนลงในถุงดำ
จากนั้นให้รวบปากถุง และแขวนถุงไว้ ตัดปลายถุงเพื่อระบายน้ำที่รด
7. ประมาณ 3 วัน ก็สามารถนำถั่วงอกมารับประทานได้การเพาะถั่วงอกแบบตัดรากในตะกร้าหรือถังพลาสติก
การเพาะถั่วงอกแบบมีรากในตะกร้า
วัสดุและอุปกรณ์
1. ถังพลาสติกสีทึบ เจาะรูที่ก้นถังหลาย ๆ รู เพื่อระบายน้ำและเจาะรูที่ด้านข้าง
เป็นระยะ ๆ เพื่อระบายอากาศหรืออาจใช้ตะกร้าแทนถังพลาสติก
2. กระสอบป่านตัดเป็นวงกลมขนาดเท่าปากถัง
3. ตะแกรงไนล่อนตาถี่รูขนาดเล็กกว่าเมล็ดถั่วเขียว ตัดเป็นวงกลมขนาดเท่าปากถัง
4. เมล็ดถั่วเขียว
5. ถุงดำ
วิธีการทำกิจกรรม
1. แช่เมล็ดถั่วเขียวในน้ำอุ่น ทิ้งไว้ 6-8 ชั่วโมง คัดเมล็ดที่ลอยน้ำทิ้งไป
2. นำกระสอบวางลงไปในถัง และวางตะแกรงไนล่อนทับ
3. โรยเมล็ดถั่วลงไปบนตะแกรงไนล่อน เกลี่ยให้กระจายทั่วแผ่น ให้เมล็ดถั่วเขียวซ้อนกัน
ประมาณ 3-4 เมล็ด อย่าให้แน่นมากจนเกินไป
4. นำกระสอบป่านที่ตัดไว้มาวางทับเมล็ดถั่วเขียวชั้นที่ 1 แล้วนำตะแกรงไนล่อนวางทับกระสอบป่าน โรยเมล็ดถั่วเขียวลงไปทำให้ครบ
3 ชั้น แล้วปิดด้านบนด้วยกระสอบป่านอีกครั้ง
5. รดน้ำจนน้ำไหลออกมาที่บริเวณก้นถัง เพื่อเป็นการช่วยระบายความร้อน นำไปไว้ในที่ร่มถ้าใช้ตะกร้าให้ใช้ถุงดำห่อหุ้มก่อนจะนำไปวางในที่มืด
6. ประมาณ 3 วัน ก็สามารถนำถั่วงอกแต่ละชั้นมาตัดราก โดยตัดที่โคนต้นถั่วงอกซึ่งอยู่ติดกับตะแกรงไนล่อน
ก็จะได้ถั่วงอกไร้รากพร้อมรับประทาน
ที่มา : หนังสือเรียนชีววิทยา เล่ม 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
สสวท.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น